โครงการปรับปรุงอาคารนวัตกรรมเฉลิมพระเกียรติ ลานอุทยานพระจอมเกล้า และภูมิทัศน์โดยรอบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
วัตถุประสงค์ของการปรับปรุง
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นสถาบันตามพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดตั้งขึ้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2503 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษา วิจัย ส่งเสริม และให้บริการทางเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และครุศาสตร์อุตสาหกรรม รวมทั้งทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประกอบด้วย พระนาม “พระจอมเกล้า” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระบรมราชลัญจกร “พระมหามงกุฎ” ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำสถาบัน นับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นมหามงคลยิ่งในกาลต่อมาจวบจนถึงปัจจุบัน
เนื่องในโอกาส ครบรอบ 65 ปี พ.ศ.2568 ทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีความสำนึกในพระมหา กรุณาธิคุณของพระองค์อย่างล้นพ้น จึงได้มีความประสงค์ปรับปรุงอาคารนวัตกรรมเฉลิมพระเกียรติ ลานอุทยานพระจอมเกล้า และภูมิทัศน์โดยรอบ ทั้งนี้ อาคารหอพระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยุู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราชเป็นดั่งสถานที่สำคัญประจำสถาบันในการจัดกิจกรรมสำคัญต่างๆ รวมถึงประการสำคัญเพื่อธำรงไว้ซึ่งความจงรักภักดีและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตลอดจนการมีห้องจัดแสดงประวัติการก่อตั้งสถาบันฯ และผลงานที่โดดเด่นจากคณาจารย์ นักศึกษา ทั้งด้านงานวิจัย วิชาการ นวัตกรรม งานบริการสังคม
กระทั่งลานอุทยานพระจอมเกล้า ก็เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆของสถาบันฯตลอดทั้งปี ทั้งกิจกรรมทางศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม และกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับนักศึกษา อาทิ เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมทำบุญในวันสำคัญ จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติฯ กิจกรรมวันสถาปนาสถาบัน กิจกรรมวันสงกรานต์ วันลอยกระทง และกิจกรรมการดูดาวเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ อย่างไรก็ตาม พื้นที่อาคารสถานที่บริเวณอาคารหอพระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยุู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช มีความจำเป็นในการปรับปรุง ทั้งในด้านกายภาพ และด้านการเพิ่มเนื้อหาความรู้ทั้งด้านประวัติและผลงานต่างๆของสถาบัน และการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ในด้านดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ อันเป็นการเทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้พระราชประวัติอันทรงคุณค่าให้แก่บุคลากรและนักศึกษาของ สจล. ตลอดจนผู้สนใจได้เรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ ตลอดจนนวัตกรรมความรู้และผลงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของ สจล. ต่อไป
การปรับปรุงประกอบไปด้วย
( 1 ) การปรับปรุงหอเทิดพระเกียรติ รัชกาลที่ 4 ด้านดาราศาสตร์และโหราศาสตร์
การปรับปรุงพื้นที่อาคารฝั่งซ้ายซึ่งแต่เดิมคือหอประวัติรัชกาลที่ 4 โดยปรับเพิ่มพระราชประวัติและผลงานที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถในด้านดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ ตลอดจนพระปรีชาสามารถในด้านวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ และการพัฒนาสังคมไทยในสมัยนั้น เพื่อเผยแพร่พระราชประวัติอันทรงคุณค่าให้แก่บุคลากรและนักศึกษาของ สจล. ตลอดจนผู้สนใจได้เรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ และเทคโนโลยีอันก้าวหน้าต่อไปในอนาคต
ที่ปรึกษาโครงการ
อ.อารี สวัสดี
อ.ภูธร ภูมะธน
อ.วรพล ไม้สน
ภาพหลังการปรับปรุง*
( 2 ) หอพระ และการจัดสร้างพระนิรันตรายเป็นพระประจำสถาบัน
การปรับปรุงอาคารเรือนไทย เพื่อประดิษฐานพระนิรันตราย ขนาดหน้าตัก 41.09 นิ้ว เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านพระพุทธศาสนา และประวัติศาสตร์ในฐานะพระพุทธรูปสำคัญของประเทศไทย ในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อธำรงรักษาถึง ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และคงความสำคัญต่อสถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อไป
ที่ปรึกษา
ศ.วัชรี สวามิวัศดุ์
( 3 ) ลานอุทยานพระจอมเกล้า (ลานดูดาว)
ปรับพื้นลานอุทยานพระจอมเกล้า เป็นแผนที่ฟ้า ตามมาตรฐานของสมาคมดาราศาสตร์ไทย และแผนที่ฟ้าตามหลักสากล และกำหนดตำแหน่งดาวให้ตรงกับวันที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงคำนวณการเกิด “สุริยุปราคาเต็มดวง” ได้ล่วงหน้าถึง 2 ปี โดยทรงเชิญ เซอร์ แฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์ มาเป็นประจักษ์พยาน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 บริเวณ หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์
ลานอุทยานพระจอมเกล้า ที่ปรับเป็นลานดูดาว จะกลายเป็นพื้นที่กิจกรรมต่างๆ รวมทั้งเป็น Landmark ที่สวยงาม สามารถมองเห็นจากเครื่องบินที่บินมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิได้อีกด้วย
( 4 ) หอประวัติ สจล.
ปรับปรุงพื้นที่อาคารฝั่งขวา ซึ่งแต่เดิมคือพื้นที่จัดแสดงประวัติของสถาบัน ให้มีความทันสมัยทั้งด้านเนื้อหาผลงานด้านนวัตกรรม วิชาการ และผู้สร้างชื่อเสียงให้แก่สถาบัน โดยใช้เทคนิคมัลติมีเดียในการนำเสนอให้ทันสมัย เพื่อให้เป็นพื้นที่รวบรวมเกียรติประวัติและผลงานอันทรงคุณค่าของสถาบันให้เป็นที่เรียนรู้ ของนักศึกษา บุคลากร ศิษย์เก่า และผู้สนใจ เพื่อระลึก และสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมต่าง ๆ สู่สังคมตามวิสัยทัศน์ The World Master of Innovation
ที่ปรึกษา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สรรพสิทธิ์ ลิ่มนรรัตน์